Monday, April 18, 2011

Echolink ในโทรศัพท์ Android และ iPhone

by Phatanadit Kulphaichitra on Friday, 15 October 2010 at 09:29

ระบบวิทยุสื่อสารเชื่อมโยงเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (VoIP, RoIP/Radio over IP) ที่ยังเป็นความนิยมอย่างเหนียวแน่นมาถึงมาถึงปัจจุบัน คือระบบที่ชื่อว่า Echolink ที่ผ่านมาบางคนชื่นชม บางคนต่อต้าน การติดต่อวิทยุสมัครเล่นที่ใช้ตัวช่วยอื่นๆเช่นอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายสายเช่นโทรศัพท์ แต่ประเด็นสำคัญคือความพร้อมในการเข้าถึงเครือข่ายการติดต่อกับนักวิทยุสมัครเล่นจากพื้นที่ต่างๆไม่ว่าจะใกล้หรือไกลเพียงใด การใช้ Echolink ผ่านอินเทอร์เน็ตนับเป็นทางลัดที่มีตัวช่วยมากมาย ตั้งแต่เครือข่ายบริการ อุปกรณ์ต่างๆจากผู้ให้บริการ รวมทั้งผู้คนเป็นจำนวนมากที่ทำงานดูแลเครือข่ายต่างๆ ในขณะที่การติดต่อทางคลื่นวิทยุโดยตรงมีเพียงเราและคู่สถานีและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ความแตกต่างนี้นำมาซึ่งความน่าสนใจและกิจกรรมที่แตกต่างกัน แต่ในด้านบริการแก่สังคม เราคงจำกันได้ดีว่าใจช่วงภัยพิบัติสึนามิเมื่อปลายปี 2547 จนไปถึงต้นปี 2548 Echolink เป็นเครือข่ายสำคัญที่ช่วยเหลือการติดต่อจากพื้นที่ออกสู่โลกภายนอก แถมยังให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐที่ร่วมกันเข้ามาช่วยเหลือ จนภายหลัง มีหน่วยงานราชการบางแห่งพยามพัฒนาระบบการสื่อสารภายในรูปแบบเดียวกันนี้ 

ในช่วงเริ่มต้น โปรแกรม Echolink ได้ถูกออกแบบให้ทำงานเฉพาะบนเครื่อง PC หรือ Mac แบบตั้งโต๊ะ หรือเครื่อง Notebook ที่เชื่อมต่อเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทางสายเท่านั้น หากจะติดต่อนอกสถานที่ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องวิทยุสื่อสารเข้ามาเชื่อมโยงการติดต่อ ซึ่งเป็นที่นิยมแพร่หลายในบรรดานักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกอย่างรวดเร็วตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2544 ที่ผ่านมา จนกระทั่งประมาณปี 2551 นายโจนาธาน เทเลอร์ (Jonathan Taylor - K1RFD) นักวิทยุสมัครเล่นชาวอเมริกัน ผู้สร้างโปรแกรม Echolink ได้ทำการแนะนำรุ่นที่ทำงานบนโทรศัพท์มือถือ Apple iPhone และล่าสุดเมื่อประมาณเดือน สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา โปรแกรมรุ่นที่ทำงานกับโทรศัพท์มือถือในระบบ Android ก็ได้ถูกแนะนำแก่บรรดานักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลกอีกครั้ง โปรแกรม Echolink ทุกรุ่นในทุกระบบ ได้ถูกเผยแพร่ให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่จะใช้ได้แค่นักวิทยุสมัครเล่นที่ผ่านการสอบในแต่ละประเทศเท่านั้น โดยต้องแสดงหลักฐานบัตรประจำตัวและสัญญาณเรียกขานสากลประจำตัวที่ได้รับอนุญาติอย่างเป็นทางการเท่านั้น นักวิทยุสมัครเล่นผู้ที่ใช้ระบบทั้งสองนี้อยู่สามารถโหลดโปรแกรมได้ฟรีจากส่วนบริการโปรแกรม (App – Applications, App Store/iPhone – Market/Android) ได้โดยตรง 

การใช้งาน Echolink บนเครื่องโทรศัพท์ทั้งสองระบบ จะเป็นการใช้งานผ่าน GPRD/EDGE หรือ 3G เพื่อสามารถเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งแน่นอนว่าจะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าระบบอินเทอร์เน็ตทางสายอยู่พอสมควร หรือหากเป็นการใช้งานในเขตบริการของอินเทอร์เน็ตไรสาย (WIFI) ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างไร Echolink จะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้ทำงานเหมือนวิทยุสื่อสารเพื่อติดต่อกับเครือข่าย Echolink และกลุ่มวิทยุที่เชื่อมโยงโดยแทบไม่จำกัดระยะทางและประเทศ นักเป็นความสะดวกมากในเวลาที่เดินทางที่อยู่ภายใต้การครอบคลุมของเครือข่ายโทรศัพท์ และเพื่อลดค่าใช้บริการในต่างประเทศ ผู้เดินทางสามารถเลือกใช้ Prepaid SIM ที่มีให้บริการแทนระบบ ROAMING ซึ่งแพงกว่าหลายเท่าตัว 

เรื่อง Echolink บนโทรศัพท์มือถือนี้ มีประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ การสื่อสารแบบเอกภาพ (Unified Communications) ที่รวมการติดต่อสื่อสารหลากหลายมาอยู่ในที่เดียวกัน บนเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถึงแม้ยังไม่สามารถทดแทนการสื่อสารฉุกเฉินในภาวะภัยพิบัติได้อย่างเต็มที่ แต่นับว่าเป็นเครื่องมือสนับสนุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากมีการพัฒนาฝึกฝนและฝึกซ้อมการปฏิบัติการสื่อสารร่วมกันแล้ว เครื่องมือนี้นับว่าเป็นส่วนที่มีประสิทธิภาพต่อการทำงานและประสานงานระหว่างกันเป็นอย่างยิ่ง ทั้งภาคเอกชนและหน่วยราชการ

สำหรับการทดสอบโดยส่วนตัว ผมพบว่าการทำงานบนเครื่อง iPhone ค่อนข้างจะเสถียรกว่าใน Android ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนา  แต่เครื่องโทรศัพท์จะราคาต่ำกว่ามาก ปัจจุบันมีเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android ออกสู่ท้องตลาดมากมาย มีให้เลือกหลายรุ่นหลายราคา แต่ที่สำคัญ Echolink จะทำงานใน Android version 1.6 ขึ้นไป

ผู้สนใจดูวีดีโอเพิ่มเติมได้จาก ที่นี่  http://goo.gl/QTqG

-----------------------------------------------
เนื้อหานี้เป็นความเห็นและประสบการณ์ส่วนตัว
พัฒนดิฐ กุลไพจิตร
HS1WFK
15 ต.ค. 2553
Echolink ใน iPhone และ Android
ทดสอบการเชื่อมโยงเข้าเครือข่ายวิทยุสมัครเล่น

Labels:

0 Comments:

Post a Comment

Subscribe to Post Comments [Atom]

<< Home